วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เตือนภัยเงียบความดันโลหิตสูง ส่งผลคนไทยป่วยอัมพาต หัวใจวาย!

 

เตือนภัยเงียบความดันโลหิตสูง ส่งผลคนไทยป่วยอัมพาต หัวใจวาย! 
          โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต) ไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตที่สำคัญของคนไทย เป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตเนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีอาการเตือน  ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ กรรมพันธุ์ เช่น มีพ่อ แม่ พี่น้อง เป็นโรคความดันโลหิตสูง และอายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป ส่วนปัจจัยเสี่ยงควบคุมได้ ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด ไขมันในเลือดสูง ภาวะเบาหวาน ขาดการออกกำลังกาย อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น เครียดเรื้อรัง สูบบุรี่ และดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
          อาการเตือนของโรคความดันโลหิตสูง ส่วนมากจะไม่แสดงอาการเตือนแต่มักจะตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาจากปัญหาอื่น มีบางรายที่อาจมีอาการเตือน เช่น ปวดมึนท้ายทอย วิงเวียน ปวดศีรษะตุบๆ หากเป็นมานานหรือความดันโลหิตสูงมากๆ อาจมีอาการเลือดกำเดาไหล ตามัว ใจสั่น มือเท้าชา เมื่อเกิดอาการผิดปกติ จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาได้ถูกต้องและทันท่วงที  ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตมีผลกระทบต่อหลายอวัยวะของร่างกาย คือ ต่อหัวใจ อาจเกิดหัวใจโต และหลอดเลือดหัวใจหนาตัวและแข็งขึ้นทำให้เกิดหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจล้มเหลว  ต่อสมอง อาจเกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันหรือแตกได้ เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือเสียชีวิตทันที  ต่อไต อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งนำไปสู่การคั่งของสารพิษในร่างกาย อาจถึงตายได้  ต่อตา อาจเกิดเลือดออกที่ตา ตามัวจนถึงตาบอดได้ ต่อหลอดเลือด อาจทำให้หลอดเลือดตีบแคบ หรือโป่งพอง มีผลให้เลือดไปเลี้ยงแขนขา และอวัยวะภายใยน้อยลงจนเดินไม่ได้ไกล เพราะปวดขาจากการขาดเลือด
การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ให้แก้ไขเรื่องพฤติกรรมการกินอาหารโดยเฉพาะควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ชิมอาหารก่อนรับประทาน ฝึกการรับประทานอาหารที่มีรสชาติพอเหมาะไม่เค็ม  หากซื้ออาหารกระป๋อง ผักดอง และอาหารสำเร็จรูป ควรอ่านฉลากอาหารทุกครั้งและเลือกชนิดที่มีเกลือโซเดียมต่ำหรือน้อย ลดการใช้น้ำปลา เกลือเครื่องปรุงรส (โดยปกติควรบริโภคเกลือไม่เกิน1 ช้อนชาต่อวัน ) หันมาใช้เครื่องเทศแทนและสมุนไพรแทน เช่น หัวหอม กระเทียม ขิง พริกไทย มะนาว งดบริโภคอาหารมักดอง ขนมกรุบกรอบ ไม่วางเครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น น้ำปลา ซอส ซีอิ้วขาว ไว้บนโต๊ะอาหาร เลือกซื้อผักผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่สดใหม่มาปรุงอาหารรับประทานเอง เพิ่มปริมาณการกินผักและผลไม้ไม่หวานให้มากขึ้น ออกกำลังกายประมาณวันละ 30 นาทีขึ้นไป 5 วันต่อสัปดาห์ หรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างกระชับกระเฉง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น